5 นักวิ่งที่ไม่ได้วิ่งเพื่อตัวเอง

ปัจจุบันเราเห็นคนที่วิ่งเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งตามสวนสาธารณะ วิ่งในฟิตเนส วิ่งในงานวิ่งต่างๆแต่มีการวิ่งอีกแบบหนึ่งที่คนวิ่งไม่ได้วิ่งเพื่อตัวเอง แต่วิ่งเพื่อผู้อื่น มาทำความรู้จักนักวิ่งเหล่านี้กัน

Terry Fox เป็นชาวแคนาดา เกิดในปี 1958 ต่อมาในปี 1977 เขาตรวจพบเนื้องอกที่ขาข้างขวา และต้องตัดขาขวาทิ้ง แต่ในคืนก่อนที่จะตัดขา เขาได้อ่านเจอเรื่องของนักวิ่งที่ถูกตัดขาเช่นกัน และนั่นทำให้เขาฝันว่าอยากจะวิ่งบ้าง Terry Fox อยากจะระดมเงินมาวิจัยและสร้างการรับรู้เรื่องโรคมะเร็ง ผ่านการวิ่งมาราธอน โดยเขาตั้งชื่อว่า ‘Marathon of Hope’ และใช้เวลาฝึกซ้อมกว่า 5,000 กิโลเมตร เพื่อเตรียมพร้อมร่างกาย

12 เมษายน ปี 1980 : Terry Fox เริ่มวิ่งครั้งประวัติศาสตร์ด้วยขาเทียมของเขา โดยเขาตั้งใจที่จะวิ่ง 42 กิโลเมตรต่อวัน แต่หลังจากผ่านไป 143 วัน ในระยะทาง 5,373 กิโลมตร เขาก็ต้องหยุดพัก และมะเร็งได้ลามมาถึงปอดของเขาแล้ว แต่เขาก็ยังให้สัญญาว่า “ผมจะทำให้เต็มที่ ผมจะสู้ ผมสัญญา ผมจะไม่ยอมแพ้”

2 กันยายน ปี 1980 : Isadore Sharp, CEO ของ Four Seasons Hotels and Resorts ได้เทเลแกรมมาบอกครอบครัวของ Terry ว่า “คุณเป็นคนเริ่มมัน แต่เราจะทำมันต่อและไม่หยุดพัก จนกว่าความฝันที่จะหาทางรักษาโรคมะเร็งของคุณได้รับการบอกต่อไปทั่วโลก” หลังจากนั้นทุกปีก็จะมีการจัดวิ่งในนามของ Terry เพื่อหาเงินมาวิจัยรักษาโรคมะเร็ง

มิถุนายน ปี 1981 : Terry Fox เสียชีวิตในวัย 22 ปี หลังจากการรักษาด้วยคีโมไม่สำเร็จ ปี 1981 : Marathon of Hope จัดขึ้นเป็นครั้งแรกทั่ว 760 เมืองในแคนาดา มีผู้เข้าร่วม 300,000 คน ระดมเงินได้ 3.5 ล้านเหรียญ รวมกับเงินบริจาคก่อนหน้านั้นอีก 24 ล้านเหรียญ

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็เกิดการรับรู้ และการตื่นตัวเรื่องโรคมะเร็งมากขึ้น เกิดสถาบันวิจัย สถาบันการกุศล งานอีเวนต์ โดยมี Terry Fox เป็นจุดศูนย์กลาง และล่าสุดในปี 2016 มูลนิธิ Terry Fox ได้ประกาศว่าระดมเงินได้ทั้งสิ้น 715 ล้านเหรียญ เพื่อหาทางรักษาโรคมะเร็งในนาม Terry Fox

Jonathan Prince เป็นทั้งนักวิ่ง นักพูด และศิลปิน… ในทุกงานที่เขาทำ เขาขอแค่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนหนึ่งคนในการเปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้น และคนๆ นั้นก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นต่อไป กลายเป็น Chain Reaction ที่ไม่สิ้นสุด

ปัจจุบัน Jonathan วิ่งไปแล้วทั้งหมด 4 โครงการ ดังนี้

1) ปี 2005 เขาเริ่มโครงการ Run 4 Relief วิ่ง 2,700 ไมล์ (4,345 กม.) จาก Los Angeles ถึง Atlanta  ระดมเงินได้ 20,000 เหรียญ เพื่อช่วยผู้ประสบภัยเฮอร์ริเคน Catrina
2) ปี 2006 เขาเริ่มโครงการ Run 4 Relief II เพื่อระดมเงินช่วยผู้ประสบภัยเฮอร์ริเคน Catrina เพิ่มเติม โดยวิ่งไปทั้งสิ้น 1,500 ไมล์ (2,414 กม.) จาก Atlanta ถึง New York City
3) ปี 2010 โครงการ Hope or Die วิ่งระยะทาง 3,000 ไมล์ จาก Santa Monica ไป Washington, DC
4) ปี 2015 โครงการ California Dream วิ่งระยะทาง 795 ไมล์ เวลา 60 วัน ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

Jonathan Prince ไม่ได้วิ่งเพียงอย่างเดียว หลังจากวิ่งเสร็จเขาก็จะพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจต่อไป และสิ่งที่เขาอินมากๆ ก็คือ เรื่องความฝัน เขาเชื่อว่า คนทุกคนจำเป็นต้องเดินตามความฝัน เพราะมันทำให้ไม่หยุดนิ่ง และพัฒนาตัวเอง เขาเชื่อว่าโลกเราจะดีขึ้นได้เมื่อทุกคนกล้าที่จะฝัน และลงมือทำเพื่อความฝันของตัวเองคุณต้องรู้ตัวเองตลอดว่า ความฝันของคุณคืออะไร และไม่หลงไปกับความฝันของคนอื่น… ชีวิตใคร ชีวิตมันผมวิ่งเพื่อตามความฝันของผม และหวังว่าคุณจะ (วิ่ง) ตามความฝันของคุณเช่นกัน

Mark เป็นทั้งพิธีกร นักพูด นักวิ่งและอดีตทหารหน่วยคอมมานโดโดยในปี 2014 เขาได้เริ่มวิ่งโครงการ ‘Greatest American Journey of Hope’ เป็นโครงการวิ่ง เดิน และปั่นจักรยาน เป็นระยะทาง 20,000 ไมล์ ในเวลาประมาณ 7 ปี เพื่อหาเงินให้ 7 มูลนิธิ แต่กว่าที่เขาจะจริงจังขนาดนี้ เขาก็เคยไม่ประสบความสำเร็จมาก่อน ในวัย 16 ปี เขาไม่ผ่านการวิ่งพื้นฐานครึ่งไมล์ของ British Army และถูกเพื่อนโหวตว่า อ้วนสุดในกองทัพ แต่หลังจากการฝึกฝน 7 ปีในกองทัพ เขาสามารถผ่านการฝึก British All Arms Commando ได้หลังจากนั้นเขาก็วิ่งในโครงการต่างๆ รวมถึงการวิ่ง 70 ไมล์ ในปี 2014 เพื่อประท้วงการปิดบริการที่โรงพยาบาล Withybushz

ในปี 2016 Ben Smith ได้เริ่มโครงการวิ่งที่ชื่อว่า ‘The 401 Challenge’ โดยเขาจะวิ่ง 401 มาราธอน ใน 401 วัน (42.16 กิโลเมตร=1มาราธอน) โดยเขาวิ่งติดต่อกันได้ตามเป้าหมายถึง 284 วัน จนได้รับบาดเจ็บและต้องพักไปถึง 10 วัน ทำให้วันที่เหลือเขาต้องวิ่งชดเชย 10 วันที่บาดเจ็บไป และในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ

เขาสามารถระดมเงินได้ 250,000 ปอนด์ ให้กับมูลนิธิต่อต้านการกลั่นแกล้ง (Anti-Bullying) เพราะในวัยเด็กเขาถูกกลั่นแกล้งมาตลอด 8 ปี ในวัยเด็ก ทำให้เขาเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตัวเองอีกเลย และตอนอายุ 18 ปี เขาก็เกือบจบชีวิตตัวเองด้วย เขาต้องการให้การวิ่งของเขา สร้างการรับรู้ถึงการกลั่นแกล้ง การทารุณทางเพศ และการคุกคามในทุกเรื่องๆ

ส่วนคนสุดท้ายนี้ คือ ที่สุดของที่สุดจริงๆ เพราะ ‘ตูน บอดี้สแลม’ ไม่ใช่นักวิ่งอาชีพมาก่อน เขาแค่รักในการออกกำลังกาย และเมื่อโอกาสมาถึง เขาก็แค่อยากช่วยหาเงินซื้อเครื่องมือแพทย์เท่านั้น

จากความตั้งใจครั้งนั้น ทำให้เกิดโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ ที่เขาวิ่งจาก กรุงเทพฯ ถึง บางสะพาน ระยะทาง 400 กิโลเมตร ใช้เวลา 10 วัน ได้เงินบริจาครวม 85 ล้านบาท ในวันที่ 1-10 ธันวาคม 2559 และหลังจากนั้นเพียง 10 เดือน เขาก็ออกวิ่งอีกครั้ง ด้วยเป้าหมายที่ใหญ่กว่าเดิม การวิ่งในครั้งนี้มีระยะทาง 2,100 กิโลเมตร ซึ่งมากกว่าเดิมถึง 5 เท่า จาก อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สู่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยครั้งนี้เขาขอเงินจากคนไทย 70 ล้านคน เพียงคนละ 10 บาท ก็จะได้ 700 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาโรงพยาบาล 11 แห่ง

 เมื่อมีคนลุกขึ้นมาทำอะไร ย่อมมีคนเห็นต่าง
แต่สำหรับ ‘ตูน’ เขาไม่ชอบพูด เขาชอบทำมากกว่า

Spread the love