8 ต้นทุนล่องหนจน ธุรกิจ เจ๊ง

ปัจจุบันการเป็นนายตัวเอง หรือ Self Employed นั้นทำได้หลายรูปแบบ

1.ฟรีแลนซ์

2.ขายของออนไลน์แบบง่ายๆ หรือ

3.การมีธุรกิจเป็นของตัวเอง

ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทุกเพศ ทุกวัย ต้องเคยคิดในหัวบ้าง ว่าฉันอยากเปิดร้านนู้น ฉันอยากทำธุรกิจนี้ แต่ไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือ Startup สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเจอคือ ต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งเชื่อเถอะว่าผู้ประกอบการทุกคนก็ต้องคำนวณต้นทุนมาดีแล้ว แต่ถึงเวลาบวกลบ กำไร ขาดทุน จริงๆ … อ้าววว ขาดทุนซะยังงั้น เพราะฉะนั้น ถ้าคุณกำลังวางแผนเพื่อทำธุรกิจจริงๆ (เสียภาษี) มาทำความรู้จัก กับต้นทุนล่องหนที่พร้อมจะออกมาหลอกหลอนเจ้าของธุรกิจได้ทุกเมื่อ

1 กู้เงินในอัตราที่สูง 

ไม่ใช่แค่ธุรกิจขนาดเล็กเท่านั้นที่เจอปัญหานี้ สตาร์ทอัพบางราย ไม่สามารถรอการระดมทุนได้ จึงต้องกู้เงินเพื่อมาแก้สภาพคล่องก่อน และ ถ้าคุณไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ยังไม่ได้จัดตั้งบริษัทอย่างถูกต้อง (มีระบบภาษีและการทำบัญชีที่ถูกต้อง) หรือไม่มีเครดิต เงินกู้ที่คุณได้ไปจะแพงกว่ามาก และวงจรอุบาทว์ก็จะเริ่มขึ้น เมื่อเครดิตไม่ดี ดอกเบี้ยก็สูง ค่าใช้จ่ายก็เยอะตาม และถ้าการกู้เงินนั้นไม่ได้เอามาใช้กับเรื่องที่ต้องใช้ ธุรกิจก็ไม่สามารถทำกำไร และใช้หนี้ได้

2.ผลตอบแทนพนักงาน

การคำนวณเงินเดือนนั้น ไม่ใช่แค่ว่า เอาเงินเดือนไปคูณ 12 เดือนแล้วจบ เพราะยังมีภาษี สวัสดิการ และผลตอบแทนด้านอื่นๆ ที่คุณนึกไม่ถึง จากงานวิจัยของ Joseph G. Hadzima Jr. of the MIT Sloan School of Management ต้นทุนเงินเดือนของพนักงานหนึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 1.25 ถึง 1.4 เท่า ของที่บริษัทต้องจ่าย ซึ่งส่วนที่เพิ่มมานั้นมาจาก ภาษี ผลตอบแทนชดเชย ค่าประกัน วันหยุด วันลา รวมไปถึง โบนัส ถ้าคุณมีพนักงานเงินเดือน 20,000 บาท 3 คน ต้นทุนหนึ่งปีคำนวณได้ 20,000 x 3 x 12 = 720,000 บาท แต่ค่าใช้จ่ายจริงๆ มันมากกว่านั้น 1.2 เท่า จะเท่ากับ 864,000 บาท ซึ่งมากกว่าที่คุณคำนวณตอนแรกถึง 142,000 บาทเลยทีเดียว

3.ของหาย (Shrinkage) 

สำหรับธุรกิจที่เป็นขายของเป็นชิ้น จะมีความเสี่ยงที่ของจะหายอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น การขโมย การฉ้อโกงของพนักงาน หรือเอกสารผิดพลาด ในสหรัฐฯ มีการคาดการณ์ว่ามีของหายแล้วจับมือใครดมไม่ได้ถึง 6% หรือคิดเป็น 45,000 ล้านเหรียญในสหรัฐฯ ทุกๆ ปี สำหรับผู้ประกอบการ มีมาตรการที่สามารถลดปัญหาเหล่านี้ได้ หลากหลายแบบ วิธีง่ายๆ ก็ติดตั้งกล้องวงจรปิด แต่วิธีที่ถูกต้องคือสร้างระบบตรวจสอบสินค้า และปิดช่องโหว่ที่จะทำให้ของหาย

4.ประกัน  

ในตอนเริ่มต้น คุณอาจจะไม่ต้องการประกันนั่นนี่มากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป รายได้ของธุรกิจเพิ่มขึ้น มูลค่าของธุรกิจเพิ่มขึ้น ประกันก็จะยิ่งสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันธุรกิจ ประกันหนี้สิน ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันทรัพย์สิน เรียกได้ว่าอะไรที่คิดเป็นเงินได้ ก็มีประกันทั้งนั้น

5.ค่าธรรมเนียมทางกฎหมาย

เรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล ในไทยอาจยอมความกันง่ายๆ แต่ในประเทศอย่างสหรัฐฯ พวกเขาสู้เต็มที่เพื่อสิทธิ์ของพวกเขา บางครั้งธุรกิจเล็กๆ ต้องเจอกับทนายหัวหมอ ทนายเหล่านี้รู้ว่าบริษัทเล็กๆ ไม่มีกำลังทรัพย์ในการต่อสู้คดี ฉะนั้นการยอมความ การไกล่เกลี่ย เป็นทางออกที่ดีที่สุด และถึงแม้จะยอมความกันได้ แต่ธุรกิจของคุณจะเสียต้นทุนค่าพรีเมียมของประกันมากขึ้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ แม้มันอาจจะแค่ 1,000 เหรียญ แต่สำหรับธุรกิจที่กำลังจะ Kick Off เงิน เวลา และพลังใจเป็นสิ่งสำคัญมากจริงๆ

6.ภาษี

ตอนเป็นพนักงาน คุณแค่รับเงินเดือน และจ่ายภาษีเงินได้ ซึ่งไม่ได้ยุ่งยากมากนัก เมื่อเทียบกับการทำธุรกิจจริงๆ ฉะนั้นหากในทีมไม่มีใครที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็จำเป็นต้องมีการซื้อบริการด้านบัญชี และภาษีเพิ่มขึ้นตามมายิ่งธุรกิจเติบโตมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องเสียภาษีมากขึ้นเท่านั้น ทางที่ดีคือการลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้อง

7.ค่าธรรมเนียม และใบอนุญาต 

ในการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมายมีเรื่องที่ต้องปวดหัวมาก และแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม ถ้าเป็น FinTech Startup ก็ต้องไปคุยกับแบงก์ชาติ ถ้าเป็นเรื่องอาหารและยา ก็ไปหาอย. ถ้ามีแรงงานต่างด้าว ก็ต้องไปกระทรวงแรงงาน เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ใช้ทั้งเงินและเวลา ยกตัวอย่างในไทย หากคุณเป็นคนมีร้านอาหารอยู่แล้ว และเห็นต่างประเทศทำคราฟต์เบียร์กัน เลยทำบ้าง คุณต้องทำให้ได้แสนลิตรต่อปี ห้ามบรรจุขวด มิฉะนั้นโดนโทษปรับ 5,000 บาท หรือจำคุกหนึ่งปี

8.ค่าอุปกรณ์สำนักงาน

สำหรับบริษัทใหญ่ๆ จะมีฝ่ายทำงบ เบิกของอยู่แล้ว แต่สำหรับธุรกิจเล็กๆ อาจเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะผู้ประกอบการมองว่ามันนิดๆ หน่อยๆ แต่ถ้าลองคิดเล่นๆ  อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ พรินเตอร์ เครื่องเขียน ทิชชู่ น้ำดื่ม ซึ่งรวมๆ แล้วก็อาจเป็นหลักพัน หลักหมื่นได้เหมือนกัน ฉะนั้นอย่าประมาทเด็ดขาด

ไม่ว่าคุณกำลังวางแผนทำธุรกิจ พึ่งเริ่มต้น หรือกำลังเติบโต คุณต้องคำนึงถึงต้นทุนล่องหนเหล่านี้ให้ดี เพราะมีคำกล่าวที่ว่า It’s take money to make money.

รวบรวม

http://marketeer.co.th/archives/75668

ที่มา
Spread the love