เทรนด์ HR ในอนาคต

ในสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรทั่วโลกต่างคาดหวังให้พนักงานแสดงประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ประเทศไทยเองก็เช่นกัน บริษัทเฮย์กรุ๊ป บริษัทให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการองค์กรระดับโลก จึงทำการสำรวจพบว่าพนักงาน 87% จากองค์กรในประเทศไทยต้องการให้พนักงานองค์กรของพวกเขามีผลการปฏิบัติงานในระดับสูง

เมื่อเป็นเช่นนั้น วิธีการบริหารงานบุคคลแบบองค์รวม จึงเป็นสิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะบ่อยครั้งจะได้ยินผู้คนพูดถึงประเด็นเรื่องการจ้างงานผู้มีศักยภาพสูง การพัฒนาผู้นำ หรือการส่งเสริมให้พนักงานมีการปฏิบัติงานที่ดีขึ้นว่า สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความแตกต่างในความสำเร็จ หรือความล้มเหลวขององค์กรได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจโลกเผชิญกับวิกฤตในปี 2008 การพูดถึงประเด็นเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุให้ผู้บริหารระดับสูง (CEO) หลายองค์กร คาดหวังให้ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล (HR) แน่ใจว่า องค์กรมีพนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอยู่ในบทบาทที่ถูกต้อง และทำงานที่เหมาะสมกับความสามารถของพนักงาน

แม้สิ่งเหล่านี้อาจฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลในหลายองค์กรต่างยอมรับว่ายังไม่สามารถบรรลุสิ่งเหล่านี้ได้ เมื่อสภาพแวดล้อมการทำงานมีความซับซ้อนมากขึ้น ทีมบริหารทรัพยากรบุคคลจึงจำเป็นต้องพัฒนาวิธีการดำเนินงานให้มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เพราะการบริหารบุคลากรไม่สามารถมองแบบแยกส่วนได้ แต่ควรจะต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์ คน และงาน

ฉะนั้นเมื่อมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น สิ่งที่ควรตั้งคำถามอาจไม่ใช่เราสามารถทำอย่างไรกับปัญหานี้ได้บ้าง? แต่คำถามที่ถูกต้องคือเหตุใดปัญหาเหล่านี้จึงเกิดขึ้น? ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำอีก !

องค์กรเร่งปรับทัศนคติ

บริษัท เฮย์กรุ๊ป ทำการสำรวจความคิดเห็นขององค์กรกว่า 1,400 องค์กร ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่เจเนอเรชั่นใหม่พบว่า องค์กรในประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ช่วงของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะ ที่หลายองค์กรในประเทศยุโรปต้องดิ้นรนต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามทั้งองค์กรในประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจ และองค์กรในยุโรปกล่าวเหมือนกันว่า องค์กรกำลังเปลี่ยนทัศนคติจากเดิมที่มุ่งเน้นเรื่องการตัดค่าใช้จ่าย เป็นกระตุ้นการเติบโตและความสามารถในการผลิตแทน

นอกจากนั้นผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า นักบริหารทรัพยากรบุคคลไม่สามารถกระตุ้นการเติบโต และความสามารถในการผลิตขององค์กรได้ ผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 60% ยอมรับว่า ตนเองยังไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้องค์กรสามารถดำเนินการไปตามกลยุทธ์หลัก และ 52% กล่าวอีกด้วยว่า พวกเขาไม่มั่นใจว่าตนเองกำหนดพนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้อยู่ในบทบาท ที่ถูกต้อง และทำงานที่เหมาะสมกับความสามารถของพนักงาน

อย่าปิดกั้นมุมมอง HR

นักบริหารทรัพยากรบุคคลมักทำงานอยู่ในกรอบ โดยไม่มองถึงความเชื่อมโยงระหว่างการบริหารคนกับงาน ซึ่งจากข้อมูลของเฮย์กรุ๊ป การบริหารทรัพยากรบุคคลที่ถูกมองแบบแยกส่วน และขาดการผสมผสานกัน มักสร้างความไม่พอใจให้กับผู้บริหาร หากคุณเป็นเหมือน 60% ของผู้ตอบแบบสำรวจคือไม่มีการเชื่อมโยงกระบวนการหลัก ๆ ของงาน HR อันได้แก่ การประเมินค่างาน การบริหารผู้มีศักยภาพสูง และประสิทธิภาพองค์กรเข้าไว้ด้วยกัน คุณจะทำได้แค่เพียงจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ที่ต้นเหตุของปัญหา

มอง HR อย่างเชื่อมโยง

การปรับบทบาทของ HR จากการเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนให้เป็นคู่คิดเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจนั้น HR จำเป็นต้องช่วยองค์กรให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากผู้บริหารทรัพยากรบุคคลไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการจัดการคนกับกลยุทธ์ขององค์กรให้มีความสอดคล้องกัน

วิธีที่ HR สามารถช่วยให้องค์กรบรรลุจุดมุ่งหมาย คือ สร้างความสอดคล้องระหว่างคนกับกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งเรื่องนี้ “ชนัตถ์ อธิบาย” ผู้บริหารระดับสูง บริษัทเฮย์กรุ๊ป (ประจำประเทศไทย) กล่าวว่า ในองค์กรมีระบบต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยง ไม่ว่าจะเป็นงาน ค่าตอบแทน หรือการบริหารผลการปฏิบัติงาน

“ฉะนั้น HR จึงจำเป็นต้องทำให้ระบบต่าง ๆ มีความสอดคล้องกัน เพราะเมื่อสิ่งต่าง ๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน HR จะเห็นภาพรวมที่ชัดเจน จนทำให้บรรลุจุดมุ่งหมายขององค์กรง่ายขึ้น ทั้งนี้วิธีการดีที่สุดคือการสร้างแกนกลางที่เป็นมาตรฐานเพื่อนำเหตุและผลใน เรื่องต่าง ๆ มาร้อยเรียงกัน เพื่อให้ได้คำตอบต่อเรื่องต่าง ๆ ที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน เครื่องมือการประเมินค่างานสามารถช่วยหาคำตอบได้”

นอกจากเครื่องมือการประเมินค่างานจะช่วยในการตัดสินใจเรื่องค่าตอบแทนพื้นฐานแบบเดิมขององค์กรแล้ว ยังสามารถช่วยองค์กรในการบริหารผู้ที่มีศักยภาพสูง การพัฒนาความก้าวหน้าทางอาชีพ ทั้งยังช่วยการวางแผนกำหนดคนให้เหมาะสมสำหรับตำแหน่งงานขององค์กรด้วย

ฉะนั้น เมื่องานเป็นรากฐานขององค์กร เครื่องมือการประเมินค่างาน จึงสามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการออกแบบองค์กร รวมถึงยังช่วยกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับพนักงานแต่ละคน เพื่อให้พนักงานเหล่านั้นบรรลุจุดมุ่งหมายขององค์กร

ดังนั้นเครื่อง มือการประเมินค่างานจึงเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนการบริหารทรัพยากรบุคคลใน ทุก ๆ ด้าน ที่เปรียบเสมือน DNA ที่เชื่อมโยงคน กระบวนการ และนโยบาย รวมถึงยังช่วยผลักดันองค์กรให้สามารถแสดงพลังในการปฏิบัติงานอย่างเต็มความ สามารถด้วย

เพราะเราไม่จำเป็นต้องรื้อระบบงานใหม่ทั้งหมด แค่เพียงหาความเชื่อมโยง และเชื่อมต่อความสัมพันธ์เหล่านั้นเข้าด้วยกันให้ได้เท่านั้นเอง เพราะ อย่างที่ทุกคนทราบ การพัฒนาองค์กร และบุคลากรจำเป็นอยางยิ่งที่จะต้องให้ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์มาเป็นผู้ช่วยกำหนด ยิ่งทุกวันนี้หลายองค์กรเกิดการแข่งขันค่อนข้างสูง หากฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ไม่เข้าไปช่วยเหลือ จะทำให้องค์กรเกิดความล้าหลังได้ ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้บุคลากรไม่เกิดการพัฒนา และมีศักยภาพ

ดังนั้น ทางเดียวที่จะทำให้องค์กร และบุคลากรเกิดการพัฒนาอย่างมีศักยภาพ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์จึงต้องช่วยเหลืออย่างจริงจัง

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่  https://th.jobsdb.com/th-th/articles/เทรนด์-hr-ในอนาคต

Spread the love